Home >> Learning City >> วัฒนธรรม
วัฒนธรรม
เกษตรกรรม
นวัตกรรม
แผนที่การเรียนรู้ชุมชนหัวตะเข้-มาเรียลัย
เป็นพื้นที่เรียนรู้ผ่านฐานสังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยพื้นที่หัวตะเข้เป็นจุดเชื่อมระหว่างคลองประเวศบุรีรมย์ คลองหัวตะเข้ และคลองลำปลาทิว ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อในเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญและก่อรูปเป็นตลาดในอดีต แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่ตลาดริมน้ำจะเปลี่ยนแปลงบทบาทไป แต่การปรับตัวของชุมชนและพื้นที่ในการใช้ฐานทุนวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนไปสู่การสร้างพื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงเป็นพื้นที่เรียนรู้อีกแห่งหนึ่งที่สำคัญของพื้นที่ลาดกระบัง นอกเหนือไปจากนี้คณะวิจัย ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม และชุมชนมาเรียลัย ยังได้ยกร่างแผนที่วัฒนธรรมและพื้นที่เรียรู้ชุมชนเพื่อนำไปสู่การสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันต่อไป
แผนที่การเรียนรู้ชุมชนมอญ
เป็นพื้นที่เรียนรู้ผ่านวัฒนธรรมของชาวมอญและพื้นที่เกษตรกรรม โดยพื้นที่ครอบคลุมชุมชน 3 ชุมชนคือ ชุมชนวัดสุทธาโภชน์สุนทรอุปถัมภ์ ชุมชนสุทธาวาส และชุมชนเลียบคลองมอญ ซึ่งมีฐานงานวิจัยด้านสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมเป็นข้อมูลการเรียนรู้ที่สำคัญ (วิวัฒน์ เตมียพันธ์, 2553) ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการสร้างวงจรของการเรียนรู้ในระดับแรก (Single Loop Learning) ในทำความเข้าใจองค์ความรู้พื้นฐานของพื้นที่ทั้งในมิติอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งกาย ภาษาประเพณี และความเชื่อ เพื่อรักษาชุดความรูปและภูมิปัญญาของพื้นที่ในการสร้างโจทย์ของการพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคต
สำหรับการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการนำเข้ามาสร้างการเรียนรู้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่งานวิจัยฉบับนี้ได้นำมาสนับสนุนการเรียนรู้ของพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้ลาดกระบัง เช่น การสร้างรูปแบบของแผนที่ การสร้างภาพเก่าที่สามารถเล่าเรื่องผ่านเทคโนโลยีได้ เป็นต้น หรือแม้แต่การสร้างรูปจำลองสามมิติ ในรูปแบบของ Metaverse เป็นต้น สำหรับฐานข้อมูลของ วิวัฒน์ เตมียพันธ์ (2553) ได้มีการเก็บข้อมูลรายละเอียดของที่อยู่อาศัยของชาวมอญ จำนวน 17 หลังคาเรือนไว้อย่างละเอียดซึ่งมีโอกาสอย่างมากในการจัดทำแบบจำลองสามมิติเพื่อการเรียนรู้ดังกล่าวกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง