Culture

Home >> Learning City >> วัฒนธรรม



วัฒนธรรม





เกษตรกรรม





นวัตกรรม


<ภาพรวม> วัฒนธรรม คืออะไร

   วัฒนธรรม โดยทั่วไปหมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย และ ความเหมาะสม แต่ถ้าเป็นในวิชาหน้าที่พลเมืองจะแปลว่าสิ่งที่มนุษย์ เปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญงอกงาม และสืบต่อกันมา



หัวตะเข้





   หัวตะเข้ เป็นชื่อชุมชนและตลาด เป็นจุดตัดของคลอง 3 คลอง ได้แก่ คลองหัวตะเข้ คลองลำปลาทิว และคลองประเวศบุรีรมย์ ในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ที่มาของชื่อชุมชนมาจากการขุดคลองในบริเวณนี้แล้วพบกะโหลกจระเข้ตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่ง มีแค่ส่วนหัว แต่ไม่มีตัว กะโหลกนี้ยังคงอยู่ที่ศาลเจ้าปึงเถ่ากงจนถึงปัจจุบัน


วัดปลูกศรัทธา





   วัดปลูกศรัทธา เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร วัดมีเนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 22 ไร่ 2 งาน 62 ตารางวา
วัดปลูกศรัทธาสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2388 โดยมีนายไสวและชาวจีนชื่อว่า นายโป ได้ดำเนินการสร้างวัด เนื่องจากวัดตั้งอยู่ปากคลองสี่ ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า วัดที่สี่ ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็น “วัดปลูกศรัทธา” ซึ่งเรียกขานชื่อนี้มาจนปัจจุบัน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2399 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554


คลองมอญ





   คลองมอญ เป็นคลองที่ขุดขึ้นคลองหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตบางกอกใหญ่กับเขตบางกอกน้อย ที่มาของชื่อคลองมาจากที่ริมสองฝั่งคลองเป็นชุมชนชาวมอญเรียงรายกันไปตลอดแนว คลองมอญแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก พาดผ่านเป็นแนวแบ่งเขตแดนระหว่างเขตบางกอกน้อย และบางกอกใหญ่ ไปออกยังบริเวณที่คลองบางน้อยและคลองบางเชือกหนังไหลมาบรรจบกัน ในรอยต่อเขตภาษีเจริญและเขตตลิ่งชัน คลองมอญมีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีศาสนสถานและวัดสำคัญ ๆ มากมาย เช่น วัดเครือวัลย์ วัดนาคกลาง วัดพระยาทำ วัดครุฑ วัดโพธิ์เรียง วัดบางเสาธง วัดปากน้ำฝั่งใต้ วัดเกาะ คลองมอญจึงมีความสำคัญต่อการระบายน้ำและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเขตกรุงเทพมหานครชั้นในเป็นอย่างมาก ชื่ออื่นๆ ของคลองมอญที่นิยมเรียกกัน ก็คือคลองบางเสาธง ซึ่งเรียกกันในช่วงที่มารวมกับคลองบางน้อย และบางเชือกหนัง หรือบางครั้งก็ถือว่าคลองช่วงนี้เป็นส่วนหนึ่งของคลองบางน้อย


ตลาดน้ำบางพลี





   ตลาดน้ำบางพลี หรือ ตลาดน้ำโบราณบางพลี เป็นตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
เป็นตลาดเก่าแก่ตั้งอยู่ริมคลองสำโรง ลักษณะเป็นห้องแถวไม้โบราณ 2 ชั้น ปลูกติดต่อกันเป็นความยาวกว่า 500 เมตร อยู่ใกล้กับวัดบางพลีใหญ่ใน เดิมมีชื่อว่า “ตลาดศิริโสภณ” สันนิษฐานว่าชาวจีนเป็นผู้เข้ามาเปิดร้านในตลาดนี้ราว พ.ศ. 2400 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เดิมเป็นชุมชนใหญ่มีความรุ่งเรืองมากในอดีต โดยเป็นตลาดขนส่งจากภาคตะวันออกชายฝั่งทะเลสู่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้นใช้เส้นทางเรือเป็นหลัก[1]