โครงการยกระดับสมรรถนะกำลังคนวัยแรงงานเพื่ออนาคต (Upskill/Reskill)
1. หลักการและเหตุผล
การเตรียมคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 ถือเป็นพันธกิจที่สำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกช่วงอายุจึงเป็นภารกิจหลักของ อว. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกำลังคนในประเทศ จะเน้นการเสริม เพิ่ม และพัฒนาทักษะในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของอนาคต กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นฐานของประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสามารถฟื้นตัวได้เร็วหลังจากวิกฤตการณ์ COVID-19 เพื่อเป็นพื้นที่เปิดในการเชื่อมความต้องการด้านกำลังคนของภาคเอกชน ผู้จ้างงาน และโยงการพัฒนาทักษะความรู้ที่เป็นที่ต้องการจากภาคการศึกษา โดยมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ในการนำเสนอหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อเสริมทักษะใหม่และพัฒนาทักษะที่มีอยู่ หรือ Reskill / Upskill / New skill ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะและเพิ่มโอกาสในการทำงานได้อย่างแท้จริง
2. วัตถุประสงค์
1) เพื่อพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต (Upskill/ Reskill) ภายในสถาบันการศึกษาที่ได้มาตรฐาน
2) เพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงานของประเทศไทยให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน
3) เพื่อแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างแพลตฟอร์มการพัฒนาและบริหารจัดการหลักสูตรอุดมศึกษาในรูปแบบ Modular Education และ/หรือ Modular Curriculum และแพลตฟอร์ม การเรียนรู้ตลอดชีวิตและทักษะเพื่ออนาคต (Upskill/Reskill)
4) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการสร้างแพลตฟอร์มการพัฒนาและบริหารจัดการหลักสูตรอุดมศึกษาในรูปแบบ Modular Education และ/หรือ Modular Curriculum และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ตลอดชีวิตและทักษะเพื่ออนาคต (Upskill/Reskill)
3. เป้าหมายโครงการ
1) เชิงปริมาณ ได้แก่
1.1) แพลตฟอร์มการพัฒนาและบริหารจัดการหลักสูตรอุดมศึกษาในรูปแบบ Modular Education และหรือ Modular Curriculum ไปสู่การพัฒนาหลักสูตร Upskill/Reskill ที่เน้นด้านเทคโนโลยีเชิงลึก จำนวน 65 หลักสูตร
1.2) คนทำงานมีความพร้อมด้านสมรรถนะทันต่อการเปลี่ยนอาชีพ Upskill/Reskill โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม 3,500 คน
1.3) เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์มและการบริหารจัดการหลักสูตรอุดมศึกษาในรูปแบบ Modular Education หรือ Modular Curriculum จำนวน 5 สถาบันอุดมศึกษา
2) เชิงคุณภาพ ได้แก่
1.1) ผู้เข้าร่วมโครงการมีความพร้อมด้านสมรรถนะทันต่อการเปลี่ยนอาชีพ (Upskill/Reskill) อย่างแท้จริง
1.2) มีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแพลตฟอร์มการพัฒนาและบริหารจัดการหลักสูตรอุดมศึกษาในรูปแบบ Modular Education และหรือ Modular Curriculum และแพลตฟอร์ม การเรียนรู้ตลอดชีวิตและทักษะเพื่ออนาคต (Upskill/Reskill)